โครงการพัฒนาการอ่านและเขียนภาษาไทยด้วยบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา

การจัดนิทรรศการ “การพัฒนาการอ่านและเขียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินด้วยบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา” ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 14ระหว่างวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ปทุมธานี

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเสนอผลการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนโสตศึกษาเรื่อง “การพัฒนาการอ่านและเขียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินด้วยบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา” ในโซนบูธเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานประชุมวิชาการประจำปีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยในช่วงเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการนำโดย อาจารย์วันทนีย์ พันธชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆและโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี ได้ถวายรายงานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้บัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา ซึ่งเป็นสื่อบัตรภาพคำศัพท์ที่มีรูปภาพประกอบคำศัพท์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังฤษ และมีภาพคิวอาร์โค้ดที่เชื่อมต่อไปยังวิดีโอการสะกดนิ้วมือและภาษามือของคำศัพท์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในบัตรภาพคำศัพท์นั้นๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้และเข้าใจการอ่านและเขียนคำศัพท์ผ่านการใช้แท็บเล็ตอ่านคิวอาร์โค้ดบนบัตรภาพคำศัพท์และแสดงผลเป็นวิดีโอภาษามือให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ผู้แทนนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินจากโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆถวายรายงานว่า การใช้บัตรภาพคำศัพท์พหุภาษาช่วยให้เรียนรู้การอ่านและเขียนได้ดีขึ้น สามารถทบทวนด้วยตนเองได้บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดการจดจำคำศัพท์ได้ดีขึ้น การดำเนินโครงการพัฒนาการอ่านและเขียนภาษาไทยด้วยบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา ได้จัดกิจกรรมนำร่องในโรงเรียนโสตศึกษา จำนวน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆและโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี โดยนำไปจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ซึ่งโรงเรียนได้รับบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษาโรงเรียนละ 3 ชุดๆ ละ 2,000 คำ และแท็บเล็ตสำหรับใช้สแกนบัตรภาพคำศัพท์พหุภาษา โรงเรียนละ 10 เครื่อง ผลการทดลองใช้ขั้นต้นพบว่านักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินมีความสนใจในการเรียน มีความกระตือรือล้นและอยากเรียนรู้มากขึ้น สามารถทบทวนคำศัพท์ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด